ความก้าวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป 


๑๒.๑ ความก้าวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ


สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย

สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สศท)  เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Association of General Surgeons of Thailand under The Royal Patronage of His Majesty The King (AGST) โดยมีเครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป “งูพันลูกศร” อยู่ภายในวงกลมสีแดง ระบุปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งสมาคม วงกลมสีน้ำเงินมีชื่อสมาคมภาษาไทย ขอบวงกลมสีเหลืองมี ชื่อสมาคมภาษาอังกฤษ มีความหมายดังนี้ “งู” เป็นสัญญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งแพทย์ที่ใช้มาแต่โบราณ และ “ลูกศร” เป็นอาวุธแหลมคมที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อขจัดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และสามารถทำให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยได้ ในความหมายรวมจึงหมายถึง แพทย์ผู้ซึ่งได้ใช้ของแหลมคมซึ่งหมายถึง ศัลยแพทย์ในการขจัดปัญหาต่างๆให้กับผู้ป่วยได้อยู่รอดปลอดภัย

 

        รูปที่ ๑  เครื่องหมายสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ในปีพ.ศ.๒๕๕๕ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้รับชมรมต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับกับสมาคมฯ ดังนี้ 
        ๑. ชมรมศัลยศาสตร์ไส้เลื่อนแห่งประเทศไทย
        ๒. ชมรมศัลยศาสตร์โรคอ้วนแห่งประเทศไทย
        ๓. ชมรมศัลยศาสตร์ตับ ทางเดินน้ำดี ตับอ่อนแห่งประเทศไทย 
        ๔. ชมรมศัลยกรรมด้วยกล้องส่องแห่งประเทศไทย
        ๕. ชมรมศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารส่วนต้น (ประเทศไทย)
        ๖. ชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
        ๗. ชมรมศัลยแพทย์มะเร็ง (ประเทศไทย)  
        ๘. ชมรมแพทย์อุบัติเหตุไฟไหม้น้ำร้อนล้วกแห่งประเทศไทย
        ๙. ชมรมสมานแผลแห่งประเทศไทย
        ๑๐. ชมรมศัลยศาสตร์โรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย


        คณะกรรมการบริหารของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ขอให้แต่ละชมรมและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับศัลยแพทย์ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ ต่อมาในบางชมรมได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นสมาคม ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางวิชาการได้อีกทางหนึ่ง


การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

        สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักได้แก่ การสรุปผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร และการพิจารณาเรื่องสำคัญของสมาคมฯ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ คณาจารย์ศัลยแพทย์ และสมาชิกศัลยแพทย์ทั่วไป โดยนายกสมาคมทำหน้าที่ประธานดำเนินการประชุม สมาคมฯมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยจากสถิติระหว่างปีพ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๗ มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกจาก ๑,๑๑๗ คน เป็น ๒,๐๙๘ คน

 

กิจกรรมทางวิชาการ

๑. การประชุมวิชาการประจำปี ในชื่อ “National Surgical Week” และการอบรมระยะสั้น จัดเป็นประจำทุกปี โดยเน้นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติทางศัลยกรรมที่ทันสมัย  
            Milestones in General Surgery  (พ.ศ.๒๕๕๖)
            Emergency Surgery I, II, II, IV (พ.ศ.๒๕๕๗, พ.ศ.๒๕๕๘)
            Current Management in Surgery  (พ.ศ.๒๕๕๘)
            Critical Points in Common Surgery (พ.ศ.๒๕๕๘)
            Controversy in Surgery (พ.ศ.๒๕๕๙)
            Approach and Current Management in General Surgery  (พ.ศ.๒๕๖๐)
            Innovation in General Surgery  (พ.ศ.๒๕๖๑)
            Common Problem and Surgical Technique in General Surgery (พ.ศ.๒๕๖๑)
            Common Surgical Consultation (พ.ศ.๒๕๖๔)
            The Good Surgical Practice  (พ.ศ.๒๕๖๕)
            Essential Surgical Expertise  (พ.ศ.๒๕๖๖)
            Surgical Decision Making & Problem solving (พ.ศ.๒๕๖๗)

๒. การประชุมศัลยแพทย์สัญจร โรงพยาบาลภูมิภาคต่าง ๆ เช่น รพ.กำแพงเพชร รพ.มหาราชนครราชสีมา และ รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี 

๓. การประชุม Interhospital Grand Round ได้รับความร่วมมือจากสมาคมและชมรมต่างๆ เป็นอย่างดี มีการประชุมในรูปแบบ onsite การประชุมผ่านระบบ Interhospital Webinar, Zoom และApplication Docquity สามารถดูการประชุมย้อนหลังได้จากระบบ Application Docquity 

๔. การประชุม Surgical Board Preview ณ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ซอยศูนย์วิจัย ห้วยขวาง กรุงเทพฯ มี ๒ รูปแบบได้แก่
             Part 1 (On-line) ณ ห้องประชุมสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ ชั้น ๑๑ ผ่านระบบ Zoom 
             Part 2 (On-Site) ณ ห้องสยามมกุฎราชกุมาร ชั้น ๓

๕. การจัดกิจกรรม Pathological Conference

๖. การจัดกิจกรรม X-ray Conference 

๗. การจัดประชุมวิชาการร่วมกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (International College of Surgeons, Thailand Section Under The Royal Petronage of His Majesty The King) และชมรมต่างๆของศัลยแพทย์

 

กิจกรรมพิเศษ

๑. การจัดสร้าง พระพุทธนิโรคาพาธศาสดา (หลวงพ่อหมอ) และจัดพิธีพุทธาภิเษก ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๕-๒๕๖๖ เนื่องในวันครบรอบ ๒๐ ปี ของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กิจกรรมนี้ได้ทำร่วมกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ทางสมาคมฯได้มอบพระพุทธนิโรคาพาธศาสดา (หลวงพ่อหมอ) ขนาด ๒๑ นิ้วให้มูลนิธิวชิรเวชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติ เพื่อประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำอาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ซึ่งได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงสร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธนิโรคาพาธศาสดา (หลวงพ่อหมอ) ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๖ และต่อมาในวันพุธที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖ ได้มีการจัดพิธีอัญเชิญพระพุทธนิโรคาพาธศาสดา (หลวงพ่อหมอ) มาประจำอาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี โดยนำมาประดิษฐาน ณ มณฑป ที่ดำเนินการสร้างไว้ 

๒. โครงการศัลยแพทย์เพื่อแผ่นดิน ร่วมกับโรงพยาบาลอุทัยธานี โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี และโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง เพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง ในปีพ.ศ.๒๕๖๗ โดยใช้เงินงบประมาณที่ได้จากการจัดสร้างหลวงพ่อหมอ

๓. ดำเนินการขยายพื้นที่สำนักงานของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยฯ ในปีพ.ศ.๒๕๖๕ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมแพทย์โรคหลอดเลือดแห่งประเทศไทย และชมรมต่างๆของศัลยแพทย์ที่ทำงานร่วมกัน

๔. สนับสนุนกิจกรรมของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

๕. การเลี้ยงต้อนรับสมาชิกใหม่ของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดเลี้ยงต้อนรับแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์หลังจากการสอบเพื่อวุฒิบัตรสาขาศัลยศาสตร์ และร่วมสนับสนุนการรับสมัครสมาชิกใหม่ของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยฯ โดยจะมอบของที่ระลึกคือเหรียญพระพุทธนิโรคาพาธศาสดา เนื้อทองแดง จำนวน ๑ เหรียญ และเหรียญพญานาครุ่นมหาลาภ จำนวน ๑ เหรียญ ให้แก่ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกใหม่

๖. การวางพวงมาลาเนื่องในวันมหิดล สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาในวันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี ณ พระบรมนุสาวรีย์พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีกรรมการบริหารสมาคมฯ สมาชิก และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมในพิธี


วารสารสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

        วารสารสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Journal of The Association of General Surgeons of Thailand under The Royal of Patronage of His Majesty The King: JAGST) ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๖ และผ่านการรับรองจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre) ให้เป็นวารสารในฐานข้อมูล TCI ในปีพ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๘ ได้ทำการรับบทความทางวิชาการ รายงานผลการวิจัยที่เกี่ยวกับด้านศัลยศาสตร์ประเภทต่างๆได้แก่ Original (research) article, Review article, Theoretical article โดยวารสารกำหนดตีพิมพ์ปีละ ๓ ฉบับดังนี้ วารสารฉบับที่ ๑ ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน (บทความที่เสนอตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน), วารสารฉบับที่ ๒ ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม (บทความที่เสนอตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม) และวารสารฉบับที่ ๓ ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม (บทความที่เสนอตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม) ของทุกปี การเผยแพร่มีทั้งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (published online) และส่งตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม โดยรับทั้งบทความภาษาไทย (ที่มีบทคัดย่อเป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) หรือ บทความภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งบทความมีผู้ทรงคุณวุฒิประเมินต่อบทความอย่างน้อย ๓ ท่าน ในการพิจารณากลั่นกรองก่อนลงตีพิมพ์ (three-blind peer reviews) 

 

การประกวดผลงานวิจัย

        สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนการวิจัยของแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ โดยจัดให้มีการประกวดผลงานวิจัยของแพทย์ประจำบ้าน ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเป็นประจำทุกปี โดยมีการมอบโล่รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ ๑ และ ๒ พร้อมเงินรางวัล ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๖๕ รวมทั้งมีการประกวดวิดีทัศน์แสดงขั้นตอนการผ่าตัดเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของศัลยแพทย์

 

รางวัลศัลยแพทย์ดีเด่น ศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

        สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล “ศัลยแพทย์ดีเด่น” แบ่งตามภูมิภาคต่างๆของประเทศได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ และในบางปีได้มีการเพิ่มรางวัลให้แก่ ศัลยแพทย์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขั้นตอนต่างๆดำเนินการโดยทำการเสนอชื่อศัลยแพทย์ที่ได้อุทิศตนและมีผลงานที่เป็นรูปธรรมต่อชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ นำมาผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการคัดเลือกฯและกรรมการบริหารของสมาคมฯ ศัลยแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับโล่รางวัล, ใบประกาศเกียรติคุณ, และเงินรางวัล จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท อนึ่งเงินรางวัลนี้ได้การสนับสนุนจากท่านอาจารย์นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

 

การเงินและงบประมาณของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไป ในพระบรมราชูปถัมภ์

        รายได้หลักของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ มาจากการจัดประชุมวิชาการ เงินสนับสนุนจากสมาคมฯ ชมรมฯต่างๆ และดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร
        ในปีพ.ศ.๒๕๕๕ สมาคมสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ ได้รับการแบ่งรายได้จากชมรมฯ และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยดังนี้
                 การจัดการประชุมวิชาการ International Congress of The Asia-Pacific Hernia Society ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงแรมดุสิต หัวหิน ทางชมรมศัลยศาสตร์ไส้เลื่อนแห่งประเทศไทย ได้แบ่งรายได้จากการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน ๑ ล้านบาท ให้กับทางสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ
                  พลโท ศาสตราจารย์ นายแพทย์นพดล วรอุไร (ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ในขณะนั้น) ได้มีโครงการร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, โรงพยาบาลตำรวจ และมูลนิธิวชิรเวชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติ ได้จัดสร้าง “พระพุทธชินราช (จำลอง) และเหรียญพระพุทธชินราช ภ.ป.ร. กับเหรียญพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ๘๔ พรรษา และได้แบ่งเงินรายได้ให้กับทางสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ เป็นจำนวนเงิน ๑ ล้านบาท
        ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๕ มีรายรับของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯเพิ่มขึ้น แต่ในปี พ.ศ.๒๕๖๖ มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับเนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างพระพุทธนิโรคาพาธศาสดา (๑,๐๗๕,๐๐๐ บาท) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมวิชาการและกิจกรรมอื่น ๆ 
        ปัจจุบันยอดเงินสะสมของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯในปีพ.ศ.๒๕๖๖ เป็นจำนวน ๑๑.๓๕ ล้านบาท 

 

การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไป ในพระบรมราชูปถัมภ์

        สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารทุก ๒ ปี ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
        นายกสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ คนปัจจุบัน (วาระปีพ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๖๘) คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ
        มีการมอบหมายหน้าที่ให้คณะกรรมการบริหารดำเนินงานตามแผนของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ

 

แนวโน้มการดำเนินงานในอนาคต

        สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯยังคงเติบโตทั้งด้านจำนวนสมาชิก และการจัดกิจกรรมวิชาการต่างๆ 
        การประชุมวิชาการต่างๆของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปฯ ได้นำ “เทคโนโลยีออนไลน์” มาร่วมใช้มากขึ้นได้แก่ Hybrid Conference, Teleconference, Webinar เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกิจกรรมการประชุมวิชาการ
        แนวโน้มการพัฒนาจะเน้นการขยายความร่วมมือกับสมาคมและชมรมต่างๆให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านศัลยกรรมให้ก้าวหน้าต่อไป

 

สรุป


        สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษา ความรู้ และวิชาการด้านศัลยกรรม พัฒนาเครือข่ายทางการแพทย์ และสนับสนุนการวิจัย การดำเนินงานเป็นไปด้วยความต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ดี โดยมีเป้าหมายหลักคือการยกระดับคุณภาพของศัลยแพทย์ในประเทศไทย


ศ.นพ.ธวัชชัย อัครวิพุธ
นายกสมาคมฯ วาระ ๒๕๖๖-๒๕๖๘